sub-prime in the nut’s shell

ผมตั้งใจจะไม่บันทึกเรื่องการเมืองหรือเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรบ. “เทพประทาน”ในช่วง 2-3 เดือนแรกเท่าไรนัก
เพราะเข้าใจและพยายามตั้งใจว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้ามาตามครรลอง (การย้ายฟากของกลุ่มเพื่อนเนวิน ผมก็ถือว่ามาตามครรลอง)
ผมก็เห็นควรว่าจะให้โอกาสเค้าแสดงฝีมือก่อน และพยายามเอาใจช่วยให้ทำสำเร็จ เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม ผมก็ต้องอาศัยอยู่เมืองไทยไปอีกนาน นอกจากจะบุญหล่นทับได้ไปอาศัยอยู่ประเทศโลกที่หนึ่งที่เจริญแล้ว ซึ่งก็ยังไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ฮ่าๆๆ

แต่หลังจากผ่านมาได้เกือบๆ 2 เดือนนั้น ผมเห็นแล้วว่า ท่านเทพฯจะไม่ทำอะไรกันแล้วนอกเหนือไปจากมาตรการที่ได้ตีค้องร้องป่าวกันไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา และท่านเทพก็บอกว่าให้รอนั่งดูผลมันก่อน ถ้าไม่ไหวจริงๆจะรีบออกมาตรการรอบสองอย่างเร็วพลัน ไม่ให้เราท่านต้องจนกันนาน(จริงๆก็คือเงินหมดตูดแล้ว จะรอรอบใหม่ก็ต้องเดือนกันยานู่น)

เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว เพื่อให้เกิดความสนุกสนานกับตัวเอง
ผมก็ขอวิพากษ์มาตรการของท่านเทพดู เพื่อเป็นการประเมินตัวเองด้วยว่า “อ่านขาด” ขนาดไหน

แต่ก่อนจะเข้าสู่การวิพากษ์ที่ดี เราควรมาตั้งต้นที่เหตุแห่งปัญหาเสียก่อนนะครับ เพื่อที่ว่า เมื่อเรารู้เหตุแล้วนั้นเราก็จะมองเห็นภาพง่ายๆได้ว่า การดับปัญหานั้นตรงกับเหตุหรือไม่

ถ้าพูดถึงวันที่คนไทยเรารับรู้ว่าโลกมีปัญหานั้นคงไม่มีวันไหนชัดเท่าวันที่ CNN รายงาน Breaking News ว่า Lehman Brothers. ประกาศล้มละลาย เนื่องจากปัญหา sub-prime ในอเมริกา หากย้อนกลับไปเพียงเท่านี้ ใครที่หลงเข้ามาอ่านคงจะด่าว่า

“ถ้าเกริ่นเท่านี้ ท่านจะเกริ่นทำหอกโมกษัตริย์อะไรเล่า เข้าเรื่องเลยไม่ดีกว่าหรือ”

งั้นเรามาเท้าความกันก่อนว่า “วิกฤติ sub-prime” หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดจากอะไร และเป็นได้ยังไง

มันเป็นเวลามากว่า 10 ปีแล้วที่เศรษฐกิจของอเมริกามันดียิ่งกว่าติดจรวด ซึ่งมันดีมาตั้งแต่สมัยคลินตันยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ ทำให้คนอเมริกันทำห่าอะไรก็เป็นเงินเป็นทองกัน เงินทองสะพัด ทำมาค้าคล่องกันยิ่ง และเมื่อคนเราทำมาค้าคล่อง สิ่งที่คนเราจะซื้อหาเมื่อชีวิตเริ่มดีแล้วก็คือบ้าน ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของอเมริกามันเติบโตพุ่งพรวดมาก เพราะเมื่อคนเรามีเงินมีทองคล่องมือ ใครๆก็อยากมีบ้านมีรถ แต่การเป็นหนี้บ้านนั้น หาได้ง่ายอย่างการเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่ เพราะการเป็นหนี้บ้านนั้น มันเป็นหนี้ระยะยาวทำให้ธนาคารต่างๆก็พากันคัดกรองลูกค้าอย่างเต็มที่โดยพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานธนาคารที่ดี แต่เมื่อราคาบ้านมันถีบตัวสูงอย่างรวดเร็วแบบนี้ ทำให้หลายคนทนรอไม่ได้

เพราะถ้ารอกว่าคุณสมบัติจะผ่านเกณฑ์ของธนาคาร จนธนาคารมันยอมให้กู้ บ้านมันคงราคาไปไหนต่อไหนแล้ว

ดังนั้นเมื่อความต้องการมี แต่ระบบปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองได้
มันก็เกิด Blue Ocean ขึ้นมา นั่นคือการปล่อยเงินกู้ให้กับคนที่ไม่สามารถกู้เงินซื้อบ้านตามเกณฑ์ปกติของธนาคารได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติ

จึงเป็นเหตุให้เริ่มมีบริษัทปล่อยกู้ให้กลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า “sub-prime” โดยเรียกอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ
ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่อยากมีบ้านแต่ความสามารถยังไม่ถึงอย่างกว้างขวาง

ความสามารถยังไม่ถึงหมายความว่า ถ้าซื้อบ้านก็จะทำให้เป็นหนี้มากกว่า 40% ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งปกติแล้วธนาคารจะถือว่าเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อได้รับผลตอบรับอย่างกว้างขวาง ก็แสดงว่าความต้องการในตลาดยังมีสูงอยู่อีกมาก และในช่วงที่ทำมาค้าคล่องอย่างนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้ยิ่งพยายามรักษาเครดิตที่กว่าจะได้มาก็ยากยิ่งกว่ายากอย่างนี้อย่างเข้มงวด ลูกค้ากลุ่มนี้จึงมีอัตราการผิดชำระหนี้ต่ำมากๆ และเมื่อตลาดมันมีความต้องการสูงอย่างนี้ แถมผลตอบแทนก็ดี ลูกค้าก็น่ารักมาก สามารถหาเงินมาส่งดอกได้ตามกำหนด
ทำให้บริษัทอยากปล่อยกู้มากขึ้นเรื่อย แต่อนิจจา… ก็เงินปล่อยกู้มันมีจำกัด ดังนั้นทางที่บริษัทที่ปล่อยเงินกู้ให้กลุ่ม “sub-prime” ทำ เพื่อให้ได้เงินมาโยนใส่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็วก็คือการนำหนี้ “sub-prime” นี้ไปขายต่อให้กับกลุ่มวาณิชย์ธนกิจ โดยยอมเสียส่วนต่างกำไรที่ได้ดอกเบี้ยสูง เพื่อได้เงินไปหมุนต่อเร็วๆ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A สามารถปล่อยกูได้ 100M $ โดยได้อัตราดอกเบี้ยที่ 9% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยมาตรฐานของตลาดที่ไม่ใช่ “sub-prime” อยู่ที่ 6.5% ต่อปี (ทั้งหมดเป็นตัวเลขสมมติ) บริษัท A ก็เอาหนี้ส่วนนี้ไปขายต่อให้บริษัท IAI ในอัตราดอกเบี้ยแค่ 7% ต่อปีโดยบริษัท IAI ก็ได้กำไรเฉยๆ 2% แล้วบริษัท A จึงเอาเงินกู้ 100m $ ที่ได้ไปโยนใส่ระบบต่อ

แน่นอนว่าด้วยความที่เศรษฐกิจดีมาอย่างยาวนานทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถชำระหนี้ไปได้เรื่อยๆ และกลุ่มการเงินต่างๆก็เริ่มหันมามองตลาดอันหอมหวานนี้กันตาเป็นมัน การเอาด้วยและตามแห่ก็เกิดขึ้นกับบริษัทอันละโมบโลภมากของพวกอเมริกันทันที กระบวนการปล่อบกู้ทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงเกิดขึ้นอย่างมันมือ และเมื่อเงินออมในประเทศตัวเองหมด มหามิตรชาวอเมริกันก็เอาโมเดลนี้ไปหลอกแดก เอ๊ย… ไปบอกต่อกับกลุ่มการเงินของประเทศต่างๆทั่วโลก ให้รีบมารับเอาเงินไปใช้ แบ่งกระจายตามความโลภของแต่ละคน ใครโลภมากก็มาเอามาก ใครโลภน้อยก็เอาไปน้อย ส่วนใครไม่โลภ(หรือจริงๆก็โลภแต่โง่อย่างแบงค์ไทย)ก็ไม่เอาเงินไปลง

แน่นอนว่า ถ้าเงิน 1 บาทใส่ลงไปในระบบเศรษฐกิจ มันจะหมุนไปประมาณ 10 รอบจนกลายเป็นเงิน 10 บาท จำนวนเงินที่หมุนลงไปใน sub-prime ซึ่งประมาณกันว่าน่าจะเป็นหลาย ล้านล้านดอลลาร์นั้นจะหมุนไปให้เกิดการยืมเงินกันไปกันมากี่รอบนั้น ผมเองก็จินตนาการไม่ออก คาดว่าถ้าเอามาแลกเป็นเงินบาทคงทำให้กรุงเทพท่วมไปด้วยแบงค์พันจนเราไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้เลยทีเดียว

ระบบอุบาทว์นี้สามารถหมุนไปได้เรื่อยๆอย่างชั่วนานตาปีแน่นอนถ้าไม่มีหน่วยไหนล้มคลืนมาก่อน ซึ่งหากเป็นคนที่มีสติแล้วคงรู้ว่าดีว่า มันต้องล้มครืนลงมาแน่นอนเพียงแต่มันจะล้มเมื่อไหร่แค่นั้นเอง

และเมื่อเงินมันหมุนไหลพันกันมั่วซั่วแบบนี้ เมื่อหน่วยเล็กที่สุดที่เป็นตาน้ำเริ่มมีปัญหาเช่น น้ำมันแพงบ้าเลือด ค่าครองชีพถีบตัวสูงอย่างไม่ลืมหูลืมตาตามราคาน้ำมัน คนที่เริ่มเอาไม่อยู่ก็ล้มลงไปเรื่อย เรื่อย และเรื่อย เรื่อย ปัญหามันก็เริ่มเกิด แต่ต้นตอหลักก็มาจากราคาบ้านที่ลดต่ำลงเรื่อยของอเมริกาตั้งแต่ปี 2005 ทำให้พอมีปัญหา จะขายบ้านก็ขายไม่ออก หรือขายไปก็ขาดทุน วิกฤติมันก็เลยเริ่มก่อตัวตั้งแต่นั้น

หากเปรียบไปก็เหมือนเราเอาไพ่มาต่อเป็นปราสาทสูง แม้จะสวยงามแต่มันก็เปราะบาง ยิ่งเราต่อมันขึ้นไปสูงเท่าไหร่ โอกาสพังมันก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น และเมื่อมันพังลงมาเมื่อไหร่ หายนะก็จะเกิดทันที และยิ่งเกิดที่ฐานล่างลงไปเท่าไหร่ ขนาดความเสียหายมันยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

และความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น ก็มีคนพยายามเปรียบเทียบตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า

“นี่มันสึนามิทางการเงินอย่างแท้จริง”

5 thoughts on “sub-prime in the nut’s shell

  1. ไม่เข้าใจตรงนำหนี้ไปขายต่ออ่ะพี่
    คือบริษัทที่ซื้อไปจะรับหนี้ต่อแทน เวลาลูกหนี้จ่าย บริษัทที่ซื้อไปก็จะได้แทนใช่รึเปล่า?

  2. ^
    ^
    นาย ก. กู้ ฟินวัน (สถาบันการเงิน)
    แล้ว ฟินวัน ก็เอา สินทรัพย์ ตรงนี้ ไปกู้ ธ. กรุงเทป (สมุมติ) ต่อ
    เพราะโฉนด เป็นของ ฟินวัน อยู่

    กรณี ตัวอย่างของ lawender คือ ฟินวันกินน้ำจิ้ม 2 %
    พอกู้เสร็จ ฟินวัน ก็เอามา ปล่อยกู้ต่อ

    มันเป็น ตัวเลข หมุนไป หมุนมา เหมือน ยืมเงิน ตัวเอง
    ปั่นไปเรื่อยๆ อ่ะ
    เรียก tactic างการเงิน
    ในไทย พวก 5 เสือตึกดำชอบใช้
    เช่น บ. ปูนแห่งนึง ทำสัญญา เช่าตึก (ราคา 5 ล้าน)ตัวเอง
    เดือนละ 10000 ไป 99 ปี (12,000,000 โดยประมาณ)

    ถ้าไม่คิดดูดีๆ จะถูกมากเลย เช่าตึก ราคา 5 ล้าน เดือนละ หมื่นเดียว

    อ้อ แบ๊ง กรุงเทป ใส่เงินไปกับ ซับพราม ด้วย ราวๆ 3500 ล้าน ยูเอส
    เล่นเอา แบ๊งเกือยล้มไปเหมือนกัน
    555

  3. #wowow
    แล้วหลังจาก ฟินวันเอาโฉนดไปกู้ กรุงเทป แล้วสินทรัพย์(โฉนด) นี้จะเป็นของใครอ่ะพี่ ?

    ถ้าเป็นของ กรุงเทป เค้าก็เอาไปกู้ต่อได้อีกใช่เปล่า

  4. plynoi เข้าใจถูกแล้ว มันคือการขายหนี้ต่อน่ะ

    เช่น plynoi มากู้พี่ 2,000,000$ ด้วยดอก 10% พี่ก็เอาหนี้นี้ไปขายต่อให้ wowow โดยเอากำไรจากดอกแค่ 4% นั่นคือพี่ก็ได้เงินมาทันที 2,080,000$

    ถามว่า plynoi เป็นหนี้ใคร ในทางเทคนิคก็ยังเป็นหนี้พี่เหมือนเดิม แต่พี่ไม่มีสิทธิ์ในหนี้ตัวนี้แล้ว พี่ต้องส่งเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ plynoi จ่ายให้พี่ไปให้ wowow ต่อ

    ซึ่ง wowow ก็สามารถเอาหนี้นี้ไปขายต่อให้รายอื่นต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็ขายต่อไปเรื่อยๆ

    จนสุดท้าย plynoi ก็ไม่รุ้ว่าเงิน 2,000,000 บาทที่เป็นหนี้อยู่ มันวิ่งไปอยู่ในมือใครบ้าง

    ปล. เดี๋ยวรออ่านต่อตอนหน้า sub-prime 101 ฮ่าๆๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *