ตอนนี้ทั้งประเทศกำลังกังวลกับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นไปเป็น 2 หลักครับ
เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดขึ้นมาเป็น 8.9% จาก 7% กว่าๆ เมื่อเดือนก่อน
แล้วถ้าเงินเฟ้อขึ้นมาเป็น 2 หลัก ก็มีนักวิชาการและวิชาเกินหลายราย เริ่มออกมาบอกว่าอีกไม่นาน เราคงต้องเจอดอกเบี้ย 2 หลัก!!! พระเจ้าช่วย กล้วยปิ้ง!!!
คำถามที่ถามกันมากคือ เงินเฟ้อขึ้นสูงแล้วจะต้องทำอย่างไร?
ถ้าอธิบายในมุมเศรษฐศาสตร์ชาวบ้านๆ ก็ต้องบอกว่า โดยทั่วไปแล้วเงินเฟ้อขึ้นสูงเกิดได้ 2 จากคือ
- อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำให้คนทั่วไปมีเงินเยอะจนไม่รู้สึกว่าจะฝากเงินไปทำไม เอาเงินไปซื้อของใช้ดีกว่า เพราะเดี๋ยวก็ได้เงินมาใหม่ ปัจจัยอย่างนี้ทำให้เงินในตลาดมีมากกว่าสินค้า สินค้าจึงขยับราคาขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะตั้งราคาสูงขึ้นคนก็ยังซื้อเพราะประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายจ่าย
เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นกับเมืองไทยยุคก่อนปี 40 โดยสิ่งที่รัฐจะทำเพื่อแก้ปัญหานี้คือ ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เพื่อจูงใจให้คนเอาเงินเข้ามาฝาก ไม่เช่นนั้นธนาคารก็จะไม่มีเงินมาให้คนกู้เพื่อลงทุน ลามให้ต้องไปกู้เงินจากที่อื่นที่ดอกเบี้ยถูกกว่าเพื่อเอามาปล่อยกู้ในประเทศอีกที ทำให้ต้นทุนเงินกู้พุ่งสูงขึ้น และผมคงไม่ต้องพูดให้ฟังว่าเหตุใด ต้มยำกุ้งไครสิส ถึงมาเยือนบ้านเราเมื่อ 11 ปีที่แล้ว
ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์เป็นแบบนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้จะถูกปรับขึ้นเพื่อแก้ปัญหา แต่การขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้ยังไม่น่ากลัวมาก เพราะถ้าเศรษฐกิจดียังไงคนที่เป็นหนี้ก็จ่ายได้ และคนที่ไม่มีหนี้ก็แฮปปี้ เนื่องจากได้ผลตอบแทนจากเงินฝากเยอะขึ้น ซึ่งสมัยนั้นดอกเบีิ้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 12 ส่วนเงินกู้อยู่เกือบร้อยละ 18 เห็นตัวเลขแล้วสยองไหมครับ - แบบที่สองคือแบบที่เราเป็นอยู่ปัจจุบัน นั่นคือสินค้าทุนขาดแคลน ทำให้ราคาสินค้าทุนพุ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์กดดันให้ราคาสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังเช่นที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน
การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้เป็นผลพวงมาจาก Demand ที่มากขึ้นเหมือนแบบแรกนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันมากว่า การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่
อีกตัวที่เราต้องรู้จักด้วยนอกจากคำว่าเงินเฟ้อ ก็คือเงินฝืด
เงินฝืดคือภาวะที่คนไม่มีเงินใจกระเป๋าเพื่อมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้ Demand ในระบบลดลง เกิดปัญหาว่าสินค้าและบริการล้นตลาดจนต้องปรับลดราคาลงมาเรื่อยๆ เพื่อให้คนกลับมาซื้อสินค้า โดยที่ภาวะแบบนี้มักจะเกิดขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจถดถอย โดยรัฐมักจะเข้ามาแก้ปัญหาโดยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นให้คนเอาเงินออกมาใช้ หรือกู้เงินมาลงทุน เพราะมองเห็นโอกาสในช่วงที่ดอกเบี้ยถูกที่จะขยับขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่ม และทำให้คนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่นั้นเอาเงินออกมาหมุนในตลาด นอกจากนี้รัฐยังจะต้องเป็นหัวหอกในการลงทุนโครงการใหญ่ๆเพื่ออัดฉีดเงินลงมาในตลาดเพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนและฟันเฟืองเศรษฐกิจทำงานต่อไปได้
เงินเฟ้อมากๆ ไม่ดียังไง?
ก็เนื่องจากว่าระบบเศรษฐกิจนั้น เกิดจากทุนเป็นหลัก ซึ่งทุนหลักๆมาจากกลุ่มที่มั่งคั่งที่สะสมผ่านการออมไว้ พูดง่ายๆคือเงินส่วนมากมาจากเงินออมของคนในสังคมนั่นเอง
เมื่อเงินเฟ้อสูงมากๆจนเกิดภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากน้อยมากกดดันจนคนในสังคมคิดว่า ไม่รู้จะฝากเงินไปทำไมเพราะผลตอบแทนมันต่ำมาก ทิ้งไว้ค่าเงินมันยิ่งจะลดลงไปเรื่อยๆ ว่าแล้วก็เอาเงินออกมาใช้ดีกว่า แล้วเมื่อราคาสินค้าขึ้นสูงแต่คนยังเอาเงินออกมาใช้เพราะอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยมันต่ำ เงินเฟ้อมันก็ยิ่งจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
แต่ในปัจจุบันคือเราเจอปัญหาทั้งสองอย่าง อย่างแรกคือเงินเฟ้อที่เกิดจากน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากระดับ 40$/บาร์เรล ในปี 2005 มาเป็น 60$/บาร์เรล ในปี 2006 มาเป็น 80$ ในปี 2007 และทะลุโลกระดับ 140$/บาร์เรล ในปีนี้
อัตราการพุ่งของราคาน้ำมันในระดับนี้ ทำให้โลกไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และไทยก็ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างชัดเจนกดดันจนข้าวของราคาแพงไปทุกอย่าง เนื่องจากน้ำมันนั้นเป็นต้นทุนแฝงไปแทบจะทุกสินค้าและบริการ
แล้วการแก้ปัญหาจะทำยังไง?
ทางแก้มีสองอย่างคือ ถ้ารัฐจะดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสูงรัฐก็ต้องสร้างสภาวะอีกอย่างขึ้นมานั่นคือกระตุ้นเศรษฐดกิจให้้เติบโตสูงเพื่อพยุงรายรับของประชาชนให้สูงทันกับรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้น
ไม่งั้นรัฐก็ต้องคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำ เพื่อไม่ซ้ำเติมค่าครองชีพให้สูงขึ้น
ถามว่าผมอยู่ฝ่ายไหน ผมก็บอกว่า.. ผมอยู่ฝ่ายคนทั่วไป ที่ไม่มีเงินเหลือออมมากมาย ทั้งยังต้องผ่อนบ้านผ่อนรถและเติมน้ำมันลิตรละ 40 บาท โดยเหลือเงินฝากเดือนละไม่เท่าไหร่
ไอ้จะมาบอกว่าให้ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดดันเงินเฟ้อ โดยไม่มองว่าแล้วคนที่หาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้มีเงินฝากหรือมีเงินเหลือที่จะฝาก มันจะใช้ชีวิตอยู่ยังไง โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่รายได้พอรายจ่ายที่ต้องผ่อนบ้านอยู่ ต้องเติมน้ำมันลิตรละ 40 บาท แล้วมาวันนึงอยู่ดีๆอัตราดอกเบี้ยก็สูงขึ้นโดยบอกว่าเพื่อกดดันเงินเฟ้อ
ถ้าเงินเฟ้อที่เราเจออยู่ตอนนี้มันมาจากสาเหตุที่มีเงินล้นตลาดหรือ Demand มันมากกว่ากว่า Supply จนกดดันให้เงินมันเฟ้อสูงมากมาย การใช้อัตราดอกเบี้ยสูงคงเป็นนโยบายที่ถูกต้อง
แต่การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อซ้ำเติมให้ประชาชนต้องรับภาระรายจ่ายมากขึ้น ผมยังมองไม่เห็นว่ามันจะกดดันเงินเฟ้อได้ยังไง ซ้ำร้ายมันยังทำให้เศรษฐกิจดิ่งเหวเร็วไปกว่าเดิมอีกต่างหาก
นึกถึงคำทักษินที่บอกว่า ทุกวันนี้นักวิชาการของไทยยังยึดกับตำราเดิมๆซึ่งมันตกยุคไปแล้ว ผมว่ามันท่าจะจริงแฮะ