ประมาณช่วงหยุดยาวก่อนปีใหม่ ระหว่างกำลังนอนหลับกลางวันอยู่
ผมได้รับโทรศัพท์จากน้องที่เรียน MBA จุฬาฯด้วยกัน โทรมาชวนให้เป็นตัวแทนหลักสูตรฯไปแข่ง VCIC ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม
“ห๊า.. แข่งอะไรนะ?” เข้าใจว่าเป็นประโยคแรกที่ผมถามหลังจากฟังคำชวนเสร็จ
หลังจากนั้นน้องก็อธิบายคร่าวๆให้ฟังว่ามันเป็นการแข่งอะไรยังไง และให้เข้าไปดูเวบการแข่งขันเอาเอง
ผมจำได้ว่าตัวเองตอบตกลงอือออไปด้วย โดยไม่รู้ว่ามันแข่งอะไร คิดแค่ว่า เอาวะ อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์แข่งอะไรแปลกๆระดับนานาชาติ อย่างที่สองคือได้ไปนั่งเล่นนอนเล่นที่สิงคโปร์ 4 วัน โดยไม่ต้องออกเงินเอง
“น่าจะสนุกดี” ผมคิดยังงั้นนะ
หลังจากจบการแข่งขัน ด้วยการได้รับรางวัล Entrepreneurs’ Choice Award
ก็ควรมาบันทึกไว้เป็นความรู้แก่อนุชนรุ่นหลังล่ะกัน
โดยจะแยกออกเป็น 2 ส่วนครับ คือส่วนของการแข่งขัน การเตรียมตัว กับความรู้เรื่อง VC ที่ได้มาจากทั้งการเตรียมตัว และการแข่งขัน ทั้งการโดนกรรมการสับ(เละ) การได้คุยกับ Startup ที่มองตลาดในระดับโลก ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นประโยชน์ทั้งกับ Startup ทั้งหลายในเมืองไทย รวมไปถึงทั้งคนที่อยากรู้ว่า VC ทำอะไรกันยังไง เพราะศาสตร์การเป็น VC ยังเป็นเรื่องใหม่มากในเมืองไทย
VCIC คืออะไร
VCIC คือการแข่งขันระดับนานาชาติของนักศึกษา MBA ทั่วโลก โดยจำลองสถานการณ์ว่าให้นักศึกษา MBA ที่เข้าแข่งขันทำตัวเหมือนเป็น VC เพื่อพิจาณาลงทุนใน Entrepreneur จริงๆ ทำตั้งแต่อ่าน Business Plan สัมภาษณ์ผู้ประการที่มาขอเงินลงทุน เขียน Term Sheet และเจรจาปิดดีลการลงทุนกับผู้ประการที่เลือก โดยมีกรรมการที่เป็น VC มาเป็นคนตรวจสอบและตัดสินความสามารถในการเป็น VC ซึ่งผู้ที่เข้าแข่งขันจะต้องฟอร์มทีมมาทีมละ 5 คน เพื่อเข้าแข่งขัน
การแข่งขันจะแบ่งเป็นรอบคัดเลือกในแต่ละโซนในหลายทวีปเพื่อหาผู้ชนะทีมเดียวไปแข่งขันรอบสุดท้ายที่อเมริกา โดยในเอชียของเราจะมีอยู่ 3 โซนคือ โซนเอชียตะวันออก แข่งที่จีน เอชียตะวันตก แข่งที่อินเดีย แล้วก็เอชียตะวันออกเฉียงใต้ แข่งกันที่สิงคโปร์ และแต่ละโซนก็จะมีมหาวิทยาลัยของประเทศนั้นๆเป็นเจ้าภาพ
ในโซนบ้านเรา ก็มี Nanyang Technology University (NTU) เป็นเจ้าภาพ แล้วก็มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 5 ทีมครับ จากสิงคโปร์เจ้าภาพ 2 ทีมคือ NTU เอง แล้วก็ National University of Singapore (NUS) ส่วนอีก 3 ทีมมาจากประเทศไทยคือ SASIN, TU และก็ CBS (จุฬาฯ) โดยคนที่ลงแข่งได้ต้องเป็นนักศึกษา MBA เท่านั้น
ทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งในรอบ Global ที่อเมริกา
แล้วแข่งกันยังไง
การแข่งขันจะเป็นการแข่งแบบวันเดียวจบครับ คือรอบที่ผมไปแข่งจะแข่งในวันเสาร์ แต่กรรมการจะส่ง Business Plan ของ Startup มาให้เรา 3 รายตั้งแต่คืนวันพฤหัสฯ โดยแต่ละรายก็เขียนมาสไตล์ใครสไตล์มัน ซึ่งทำให้เรามีเวลาประมาณ 1 วันกับอีก 1 คืนในการศึกษาแผนธุรกิจของผู้ประกอบการก่อนวันแข๋ง และเตรียมอะไรล่วงหน้า
พอถึงวันแข่งขันในวันเสาร์ จะเริ่มแข่งโดย
1. ฟัง Pitch ของทุกผู้ประกอบการ รายละ 15 นาที โดยไม่ให้ถามคำถาม
2. จากนั้นทำการ Due Diligence กับ Entrepreneur ทีละราย รายละ 15
3. ทำการเลือก Entrepreneur ที่เราจะลงทุนด้วย 1 ราย แล้วเขียน Term Sheet ส่งให้กรรมการ พร้อมเหตุผลที่เลือกรายนั้น และเหตุผลที่ไม่เลือกอีก 2 รายที่เหลือ
4. Negotiation ทำการเจรจาต่อรอง Term Sheet กับ Entrepreneur รายที่เราสนใจ โดยให้เวลา 15 นาที
5. Partner Meeting หลังจากจบแล้ว ต้องมาตอบคำถามกรรมการอีก 15 นาทีครับ
การให้คะแนนจะดูทักษะการเลือก Entrepreneur การทำ Term Sheet การถามคำถามระหว่างการ Due Diligence การตอบคำถามกรรมการ แล้วก็การเจรจาเพื่อปิดดีลครับ (ปิดดีลได้ไม่ได้ ไม่ได้มีผลกับการแข่งเท่าไหร่นะครับ)
ซึ่งผู้ประกอบการที่เราได้รับอยู่ในกลุ่มธุรกิจ IT Startup หมดเลยทั้ง 3 รายครับ แต่อยู่คนละธุรกิจกันครับ เป็น Startup ของสิงคโปร์ 2 ราย และไต้หวัน 1 ราย โดยมี
- รายแรกทำ Marketplace สำหรับโรงเรียนอนุบาลและติวเตอร์สำหรับเด็กในสิงคโปร์
- รายที่สองเป็น นักศึกษาป.โทของ NTU เอาสิทธิบัตรของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาทำ 3D Printer ขาย
- รายสุดท้ายเป็น QSearch จากไต้หวัน ทำระบบวิเคราะห์ Profiling บน Facebook (ทีมนี้ชนะงาน Echelon มาด้วย)
อาจจะสงสัยว่า ทำไมมีผู้ประกอบการจริงๆมาร่วมงาน ทั้งๆที่ไม่ได้เงินลงทุนจริงๆ ซึ่งจากที่ผมประมวลผลมาสรุปเอาเองว่า เพราะมีโอกาสได้เจอกรรมการ ที่เป็น VC ใหญ่ๆระดับเอชียเป็นสิบราย ซึ่งไม่ได้หาโอกาสแบบนี้ได้ง่ายได้ รวมถึงได้มีโอกาสทดลอง Pitch ขอทุน และฟังคำถามจาก VC ที่ถึงแม้ไม่ใช่ VC จริงๆ แต่ก็เป็นมุมมองจากคนเรียน MBA ซึ่งไม่ได้จะหาได้ง่ายๆนัก และนอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีคนเลือกมาที่สุด ก็จะได้รางวัล Start up Award ด้วย (ประมาณว่ารางวัลขวัญใจมหาชน)
ผลการแข่งขันล่ะ?
ผลการแข่งขันสรุปว่า ทีมจาก NUS ชนะเลิศไป (ซึ่งมีคนไทยอยู่ในทีมด้วยคนนึง) รองชนะเลิศคือทีมจาก NTU เจ้าภาพ และรางวัล Entrepreneur’s Choice Award ได้แก่… ทีมของผมเองครับ CBS จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จริงๆ การแข่งขันนี้ดีมากเลยครับ ได้เปิดหูเปิดตา ได้เข้าใจว่า VC ทำกันยังไง ทำอะไร มองหาอะไร (เดี๋ยวจะแชร์ใน blog หน้า) ได้พบเจอคนจากประเทศอื่นๆ ทำให้รู้ว่า เออ… คนสิงคโปร์นี่เค้าคนละระดับกับประเทศเราอย่างชัดเจน คืออาจจะด้วยความที่เค้าเป็นประเทศขนาดเล็กมั้ง ดังนั้นเวลาทำอะไรเค้าจะคิด scale global อย่างเดียว ซึ่งก็เป็น Awareness ใหม่ของตัวเอง
ปีหน้าคงมีโอกาสไปแชร์เรื่องพวกนี้ให้น้องๆที่จุฬาฯฟังอีกที