ช่วงนี้เจอคนพยายามแนะนำการวางแผนการเงิน หรือการจัดการเงินเดือนกันเยอะนะครับ
ผมเคยไปบรรยายให้น้องๆวิศวะม.ขอนแก่นฟัง แล้วได้ประกาศว่า วิชาเลือกที่ควรบังคับให้เด็กป.ตรีทุกคนเรียน ก่อนเรียนจบคือ วิชาบริหารจัดการเงิน
คือบ้านเราขาดแคลนความรู้พวกนี้เยอะเหลือเกิน ทั้งๆที่มันเป็นความรู้อย่างแรกที่คุณต้องใช้ หลังจากรับเงินเดือนเดือนแรก (ที่บางคนคิดว่า จะไปถลุงอย่างไรดีให้สาสมกับที่มีเงินเป็นของตัวเองแบบไม่ต้องขอใครสักที)
สูตรพื้นๆที่คนพยายามแชร์กันคือ ให้กันเงินออมก่อน แล้วหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เหลือก็ค่อยเอาไปใช้ จบ!
คือจริงๆ มันก็ไม่จบห้วนๆแบบนี้หรอกครับ คือแต่ละคนก็จะพยายามร่ายยาวสาแหรกแปดสายว่า เงินที่ได้มาสมัยตัวเองมาทำงานแรกๆนั้น มันหมดไปกับอะไร ส่วนใหญ่ก็เหมือนๆกันคือ กิน เที่ยว ซื้อของที่เคยฝันอยากได้ (มักจบที่ Gadget) แล้วค่อยวกมาแนะนำว่า เออ… แล้วอัตราส่วนของเงินเก็บควรเป็นเท่าไหร่
สูตรมันเลยออกมาง่ายๆเช่น ออม 10-30% ที่เหลือก็๋ใช้จ่ายต่างๆ แล้วก็จะงอกมาว่า
เออ… ถ้าจะเรียนต่อ ก็เก็บเงินไว้เผื่อด้วยนะ เผื่อนั่น เผื่อโน่น เผื่อนี่ ด้วยนะ พอมันเผื่อหลายอย่างมากๆ คนก็คิดว่า แม่ง ถ้าจะยากขนาดนี้ก็ใช้ให้มันหมดล่ะกัน ไม่ต้องปวดหัว
พอศึกษาจริงๆ ผมกลับคิดว่า สูตรที่เรียบง่ายสวยงามที่สุดสำหรับผมคือ 6 Jars นี่ล่ะ
แล้ว 6 Jars มันคืออะไร มันก็คือการแบ่งเงินที่ได้ในแต่ละเดือนออกเป็น 6 กอง โดยแยกตามประเภทของเงินที่ใช้ ซึ่ง 6 กองนี้ มันแทบจะครอบคลุมเกือบทุกความจำเป็นทางการเงินของเราแล้วครับ
คือแนวคิดนี้ เค้ามองว่า มนัษย์ขี้เหม็นแบบเรานั้น มันมีทั้งความจำเป็น ทั้งกิเลส ทั้งโง่ ทั้งเห็นแก่ตัว เค้าจึงออกแบบการแบ่งเงินให้ตอบสนองความ need ของมนุษย์ทั่วไปให้ได้มากที่สุด
เค้าเลยให้เราแบ่งเงินแบบนี้ครับ คือ
1. กันตาย Necessary) : คือกูรู้ว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มึงต้องใช้เงิน ดังนั้นมึงก็กันเงินที่ต้องใช้เพื่อกันตายอยู่ในกองนี้ซะ เช่นค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง เป็นต้น ถ้าใครคิดว่า ต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ก็เอามาอยู่ในกองนี้ได้ เพราะถ้าไม่ผ่อน เจ้าหนี้เค้าจะมายึดเอาซะ จะลำบากปล่าว แต่ถ้าใครมองว่า มันไม่จำเป็นก็โยกไปกองอื่นได้
กองนี้เค้าบอกว่า ควรไม่เกิน 55% แต่ถ้ามันไม่พอ ก็ปรับได้ตามความจริง อย่าไปยึดติดตัวเลขมากครับ
คือที่ผมชอบแนวคิดนี้ เพราะมันไม่บังคับเราว่า เราต้องออมเงินก่อน ค่อยเอาไปใช้ เพราะชีวิตจริงมนุษย์ เรามีความจำเป็นไม่เท่ากันครับ ดังนั้นแนวคิดที่ผมเห็นด้วยคือ มันต้องหักเงินที่จำเป็นต้องใช้ไปก่อน แล้วค่อยไปคิดเรื่องอื่น
2. เก็บยาว (Financial Freedom): กองนี้คือ ให้กันเงินมาเก็บเพื่อไว้ใช้ตอนเกษียน หรือตอนที่เราไม่มีงานทำครับ คือมันเป็นกองที่ต้องมี และให้คิดว่า เก็บแล้วเก็บเลย ถ้าไม่เลิกทำงานก็ไม่เอาออกมาใช้ เงินกองนี้คือเงินที่ใส่เข้าไปแล้ว ให้่ตั้งใจเลยว่าจะไม่เอาออกมาใช้เลยจนกว่าจะเกษียน หรือเลิกทำงาน ซึ่งให้แบ่งเงินไว้ก่อน ส่วนจะบริหารจัดการยังไงให้มันงอกเงย ก็เลยแต่ความถนัด ความรู้ และสติปัญญาที่มี คือไม่มีความรู้ก็ฝากประจำไปซะ มีความรู้ก็เลือกลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมอะไรก็ว่าไป
สัดส่วนที่เหมาะสมที่เค้าแนะนำคืออย่างน้อยควรอยู่ที่ 10% นะครับ และถ้ามีโอกาสควรเพิ่มสัดส่วนไปเรื่อยๆ
3: แก้โง่ (Education): คือคนเราน่ะ เราจะโง่ลงทุกปีครับ ถ้าเราไม่หมั่นหาความรู้ให้ตัวเอง คนคิดเค้ารู้แบบนี้ เค้าก็เลยออกแบบว่า มึงน่ะ ควรใช้เงินอย่างน้อย 10% ของทุกเดือน เพื่อหาความรู้ใส่ตัว จะใช้เพื่อหาความรู้ทันที เช่นซื้อหนังสือ ลงเรียนทำขนม ก็ได้ หรือจะเก็บยาวๆไว้เรียนโท เรียนเอก ก็ได้ครับ แต่ยังไง ก็ต้องหาความรู้อยู่ตลอดเวลา
กองนี้เค้าแนะนำที่ 10% เหมือนกัน ถ้ามีเงินน้อย ก็ลดลงก็ได้ครับ หรือถ้ามีรายจ่ายพวกซื้อนิตยสารอ่าน หรือทำอะไรที่พอจะโมเมว่ามันทำให้เกิดความรู้ ก็เกลี่ยมาอยู่กองนี้ก็ได้ครับ แต่ต้องทำทุกเดือนนะครับ
4. แก้เสี้ยน (Long-Term Saving for Spending): คือเป็นคนมันต้องมีกิเลสครับ ถ้าไม่มีกิเลส เราก็คงไม่ดิ้นรนทำนั่น ทำนี่ ซึ่งคนคิดเค้าก็รู้สันดานมนุษย์ดีว่า ทำงานไปสักหน่อย เราก็ต้องอยากได้ของใหญ่ที่เราจ่ายเงินทีเดียวไม่ได้ เช่น ดาวน์รถ ซื้อ iPhone หรือไม่ก็อยากไปเที่ยวต่างประเทศไกลๆ เค้าเลยบอกว่า งั้นมึงก็ควรกันเงินเก็บไว้จ่ายส่วนนี้ด้วย เพราะเดี๋ยวมึงก็มีกิเลศอยากได้นั่นได้นี่ตลอดล่ะ ดังนั้นแทนที่จะมาหลอกตัวเอง พยายามข่มกิเลศที่ไม่มีทางทำได้ อย่ากระนั้นเลย อยากซื้ออะไร อยากได้อะไร ก็จัดเลยครับพี่น้อง
กองนี้เค้าก็แนะนำว่า อย่าเกิน 10% เช่นกันครับ จริงๆ อาจจะไม่ใช่เงินออมก็ได้ครับ จะผ่อนมือถือ จะผ่อนกล้อง อะไรแบบนี้ ก็นับลงกองนี้ได้หมดล่ะครับ เป็นกองที่ออกแบบมาเพื่อสนองกิเลศมนุษย์โดยเฉพาะ
5. แก้ตืด (Give): มนุษย์เราควรเป็นคนดี ช่วยเพื่อนมนุษย์ ดูแลพี่น้อง ครับ คนคิดเค้าก็เลยบอกว่า อย่างน้อยเราควรจ่ายเงินเพื่อคนอื่น หรือบริจาคเงินเพื่อการกุศลเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 5% จะกำลังสวยเลย
ใครเป้นลูกที่ดี ส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ทุกเดือน ก็เกลี่ยมาลงกองนี้ได้ หรือจะบริจาคการศึกษาเด็ก น้องหมาน้องแมว ก็มาลงกองนี้ได้หมดครับ หรือถ้าตระหนี่ขี้เหนียว โลกนี้ไม่มีใครสำคัญเท่าตัวเราเอง ก็ย้ายกองนี้ไปรวมกองข้างบนได้ครับ แต่ แต่ แต่… บริจาคสักเดือนละ 100 – 200 ก็ยังดีนะครับ
6. แก้เซ็ง (Fun): ข้อนี้ล่ะครับที่ผมชอบที่สุดของการแบ่งเงินแบบนี้ นั่นก็คือ มนุษย์เรามันต้องมีความอยากได้อยากมี อยากใช้เงินแบบไม่มีสาระครับ ดังนั้น เค้าก็เลยให้แบ่งเงินออกมากองสุดท้าย ประมาณ 10% เพื่อใช้จ่ายบ้าบออะไรก็ได้ ที่ทำให้เรามีความสุข แถมมีกฏเหล็กด้วยว่า
กองนี้ ให้ใช้ให้หมดเกลี้ยงทุกเดือน ห้ามเหลือ!!!
เห็นไหมครับว่า มันเป็นกลยุทธ์การบริหารเงินที่มองธรรมชาติของคนออกจริงๆ แล้วสัดส่วนแต่ละอย่าง สามารถปรับได้ตามความเหมาะสมของเราเอง แต่ยังไงก็ขอแค่ให้แบ่งให้มีทั้ง 6 กอง ไม่เป็นศูนย์ และการแบ่งเงินก็แบ่งตามจริง ไม่ใช่ตามอุดมคติ
ผมลองใช้วิธีนี้แบ่งเงินเดือน มาหลายปี ก็พบว่าชีวิตมีความสุขดีครับ โดยเฉพาะกอง Fun ที่ต้องหาทางใช้ให้หมดทุกเดือนนี่มัน สนุกจริงๆ
แก้เสี้ยนกะแก้เซ็งนี่มันต่างกันยังไงนะครับ?
ตามเข้าใจนะครัช
แก้เสี้ยน ซื้อของชิ้นใหญ่ให้หายอยาก เช่น เที่ยวต่างประเทศ ไม่ก็ LED 55'
แก้เซ็ง ซื้อของชิ้นเล็กให้หายอยาก เช่น กินสตาร์บัค กินข้าวหรูๆ
แก้เสี้ยน มันคือกันเงินไว้ใช้ซื้อของใหญ่ๆน่ะครับ ตามชื่อมันจริงๆคือ Long-Term Saving for Spending คือเก็บเงินไว้ซื้อของใหญ่
ส่วนแก้เซ็ง มันคือกอง "Fun" ครับ คือเป็นกองที่เอาไว้ถลุงให้หมดเลย ใช้ทำอะไรก็ได้ ไว้ซื้อหาความบันเทิงน่ะครับ