รถคันแรก

ปีที่แล้วทั้งปี ต้องทนฟังคนกรุงชั้นกลางถึงสูง บ่นเรื่องรถติด แล้วก็โยนปัญหานี้ให้นโยบาย “รถคันแรก” รวมถึงคนที่ซื้อรถคันแรกเป็นที่รองรับอารมณ์

บ่นกันไป ด่ากันไหม เหมือนกับว่า ถ้าไม่มีนโยบายนี้ เมืองไทยจะไม่มีใครซื้อรถเลย แล้วรถก็จะไม่ติด โดยพยายามหลับหูหลับตาไม่รับรู้ว่า เมื่อปี 2553 ก่อนมีนโยบายนี้ เมืองไทยขายรถได้เป้นประวัติการณ์คือมียอดขายรวมแปดแสนคันอยู่แล้ว และขนาดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ทำให้ไตรมาส 4 แทบจะขายรถไม่ได้เลย ตลาดรถยนต์เมืองไทยยังสามารถทำยอดได้ 790,000 คัน เรียกว่าขายรถ 9 เดือน ก็ได้ยอดเกือบเท่าปี 2553 ทั้งปีแล้ว คาดว่าถ้าน้ำไม่ท่วม บริษัทรถยนต์ในไทย ได้เปิดแชมเปญฉลองยอดขาย 1 ล้านคันแน่นอน

คนไทยในเมืองกรุงเลยไม่รู้ว่า จริงๆเมืองไทยนั้น รถยนต์ขายดีมาก ขายดีแบบที่ว่า ไม่ต้องมีนโยบายนี้ออกมากระตุ้นตลาด เราก็จะขายรถได้ปีละ 1 ล้านคันอยู่แล้ว และในยอดขายรถทั้งหมดนั้น 50% จะเป็นรถที่ออกในกรุงเทพฯนี่ล่ะ

นั่นหมายความว่า ทุกปี กรุงเทพมหานครจะมีรถเพิ่มขึ้นมาบนถนนปีละอย่างน้อย 4-5 แสนคันอยู่แล้ว สองปีก็ล้านคันนะจ๊ะ

แล้วรถมันจะไม่ติดเพิ่มขึ้นได้ยังไง

พอพ้นปีไป เข้าสู่ฤดูกาลจ่ายภาษีของมนุษย์เงินเดือน มันก็มาอีกแล้ว เสียงโอดครวญของมนุษย์เงินเดือนว่า พอคิดถึงเงินภาษีที่พากเพียรทำงานมาทั้งปี ต้องถูกรัฐบาลเอาไปจ่ายให้พวก “รถคันแรก” แล้ว มันทำให้อกอีแม้นจะแตกเป็นเสี่ยงๆ

โสกาอาวรณ์ยิ่งกว่าตัวอิจฉาในละครเห็นพระเอกกระหนุงกระหนิงกับนางเอกเลยทีเดียว

โสกาอาวรณ์โดยลืมคิดว่าไปว่า ราคาของรถทุกคันที่วิ่งขายออกจากโรงงานในไทยนั้น ถูกบวกภาษีต่างๆเข้าไปแล้วอีกเท่าตัว นั่นคือราคาขายที่คนซื้อเค้าจ่าย จะเป็นค่ารถจริงๆครึ่งนึง อีกครึ่งนึงคือภาษี
คนซื้อเซ็นต์รับรถเมื่อไหร่ รัฐได้ภาษีทันที 50%

ดังนั้นเงินที่รัฐบาลจ่ายคืนภาษีให้คนซื้อรถตามนโยบายรถคันแรก มันคือเงินของคนซื้อที่เค้าจ่ายมาตั้งแต่วันซื้อนั่นเอง หาได้เกี่ยวกับกับเงินภาษีที่นางอิจฉา มนุษย์เงินเดือนชั้นกลางที่ต้องจ่ายให้รัฐแต่อย่างใด

และเมื่อพิจารณาจริงๆแล้ว เราจะเห็นว่า ปี 2555 ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ไทยสามารถทำยอดขายทะลุทะลวงได้ถึง 1.467 ล้านคัน จากยอดประมาณการณ์ที่คาดกันไว้ว่าน่าจะขายได้เพียง 1.1 ล้านคัน เรียกได้ว่าขายได้ทะลุทะลวงเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้ง (แต่คงถูกทำลายลงไปในอีกไม่กี่ปี)

ซึ่งหากเทียบว่า ถ้าน้ำไม่ท่วมในปี 2554 ประเทศไทยเราคงขายรถยนต์ได้แถวๆ 1 ล้านคัน ก็ตีเสียว่านโยบายรถคันแรก ทำให้มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นมาอีก 4.67 แสนคัน ที่เป็นอุปสงค์ส่วนเกิน หรือเป็นการดึงอุปสงค์ของปี 2556 – 2557 ให้มาอยู่ปี 2555 (คนจำนวนนึงที่ซื้อรถทั้งๆที่ยังไม่ยากซื้อ แต่ทนส่วนลด 100,000 บาทไม่ไหวนั้นมีจำนวนพอสมควรแหละ)

ตีกลมๆว่ายอดทั้งหมดที่เพิ่มมาคือ 5 แสนคัน

ประมาณว่า 5 แสนคันนี้เป็นรถ sub-compact ยอดนิยมพวก CITY หรือ VIOS ล่ะกัน ที่มีราคาเฉลี่ยคันละ 6 แสนบาท ซึ่ง 6 แสนบาทนี้ เป็นภาษีไปซะ 3 แสนบาทที่รัฐได้เพิ่มขึ้นมาจากที่ควรได้ตามปกติ คือเป้นเงินทั้งหมดก็ 500,0000 x 300,000 = 1.5 แสนล้านบาท

และใน 5 แสนคันนั้น ต้องคืนภาษีให้คนซื้อไปคันละ 100,000 บาท ทำให้รัฐเหลือภาษีในมือที่ 1 แสนล้านบาท

สรุปปิดปี 2555 รัฐได้ภาษีเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาทจากโครงการนี้ แต่อีก 1 ล้านคันก้อนแรก ก็ต้องคืนภาษีเหมือนกัน ตีเสียว่าต้องคืนภาษีทุกคัน คันละ 1 แสนบาท ก็เป้นเงิน 1 แสนล้านบาท

คำนวณแบบสุดโต่งแบบนี้ ยังไงโครงการนี้ก็ไม่ได้ขาดทุนอะไรอยู่ดี มีหรือไม่มีโครงการนี้ อย่างแย่รัฐบาลก็เก็บภาษีได้เท่าเดิม

ที่นี้ถ้าให้วิพากษ์จริงๆ โครงการนี้มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
เอาข้อเสียก่อน

  •  นโยบายนี้มีโอกาสทำให้ Demand ของตลาดรถยนต์ในปี 2556 ลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะ Demand ที่แท้จริงถูกดึงไปอยู่ปี 2555 แล้ว ซึ่งอันนี้ต้องรถดูสิ้นปีว่าจะลดลงขนาดไหน แต่บริษัทโตโยต้าประเมินยอดขายทั้งตลาดรวมของปี 2556 อยู่ที่ 1.2 ล้านคัน ซึ่งถ้ายอดได้เท่านี้จริง แสดงว่า Demand ที่แท้จริงของตลาดแทบไม่ถูกดึงไปเลย (ถ้าเทียบว่าตลาดตั้งแต่ปี 53-56 จะโตปีละ 20% ) 
  • เสียโอกาสเอาภาษีจาก Demand ส่วนเกินที่ได้ไปใช้ทำอย่างอื่น เพราะถ้าคิดจริงๆ ภาษีส่วนเกินที่ได้จากรถเกือบห้าแสนคันนั้น รัฐไม่ได้อะไรเลย (จริงๆก็ได้จากภาษีแวดล้อมอื่นๆนะ) ถ้าจะให้ดีกว่านี้ รัฐควรกำหนดเพดานรถยนต์ที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ก็จะดี แต่แน่นอน ถ้ากำหนดแบบนั้นก็มีโอกาสโดนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดกับกฏหมายพื้นฐานที่บุคคลควรมีสิทธิ์ได้รับเท่าๆกันอีก 
ผมนึกข้อเสียออกได้แค่ 2 ข้อ เพราะข้อเสียอื่นๆเช่น 
  • อาจจะเกิดหนี้ด้อยคุณภาพตามมาเพราะคนผ่อนไม่ไหว : อันนี้ผมว่าไม่ใช่ปัญหาของนโยบายแต่เป็นปัญหาของระบบสินเชื่อที่ปล่อยสินเชื่อแบบหละหลวมมากกว่า
  • เกิดความสิ้นเปืองทางพลังงานเพิ่มขึ้น เพราะต้องซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้น : อันนี้คิดว่าถ้ามองภาพรวมเฉลี่ย 3-5 ปี ก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด ถ้าตัดเอาเฉพาะปีที่ยอดขายสูงขึ้นมาพูด ก็พอจะมองอย่างนั้นได้ 
ทีนี้ข้อดีมีอะไรบ้าง (แน่นอนไม่มีอะไรมีแต่ข้อเสียอย่างเดียว มีเสียก็ต้องมีได้)
  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ขยายตัวแบบคึกคัก มีเงินหมุนเข้ามาในระบบเศรฐกิจอย่างคึกคัก 
  • รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีแวดล้อมอื่นๆได้เยอะขึ้น ทั้งภาษีสรรสามิตน้ำมัน และ VAT การสินค้าและบริการอื่นๆที่เกี่ยวกับรถยนต์
  • เศรษบกิจขยายตัว GDP ขยายตัว I เพิ่ม C เพิ่ม
  • คนกรุงเทพฯมีอะไรให้บ่นระบายอารมณ์เวลารถติด (ฮา)
ในความเห็นผมแล้ว โครงการนี้มีผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นแน่ๆ เพราะรัฐแทบไม่ต้องลงทุนเงินอะไรเพิ่มสักบาท แต่สามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนได้ แถมไม่กระทบกับการจัดเก็บภาษีอีก

จริงๆถ้า อธิบายดีๆ ตีปี๊บดีๆ โครงการนี้สามารถเอาไปตีกินได้สบายๆ เสียแต่รัฐบาลขายไม่เป็น มิน่า… เลยโดนทักษินด่าว่าทำนโยบายดีๆเสียของ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *