ปัญหาของธุรกิจ IT ไทย

เมื่อ 3-4 ปีที่ได้ อ่านคอลัมน์ใน Business Week เรื่องปัญหาของอุตสาหกรรม IT ในอินเดีย จังหวะที่อ่านตอนนั้น แล้วนั่ง “มโน” ได้เลยว่า ปัญหาแบบเดียวกัน มันจะเกิดในเมืองไทยแน่นอน ในอีกเวลาไม่นาน แล้วมันก็เกิดแล้วจริงๆ

เราทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าอินเดียวเป็นประเทศที่เฟื่องฟูเรื่อง IT มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน Outsource แต่ที่พูดๆกันมาเนี่ย ไม่ใช่คนเค้าเก่งหรอก (คือจริงๆก็มีคนเก่งเยอะอยู่ แต่ก็ไม่ได้เก่งเป็นมาตรฐาน) แต่เป็นเพราะว่า ค่าแรงถูก แล้วก็คนที่นั่นสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ (ใช้คำว่า “ได้” ไม่ได้แปลว่า “ดี” เพราะใครเคยฟังสำเนียงแขกแล้วคงอยากฆ่าตัวตาย)

ด้วยความบูมในตลาดแรงงาน IT ของอินเดีย เลยทำให้ทั้งรัฐบาลและคนทั่วไปหันมาเอาดีทางด้าน IT เยอะมาก ขนาดคนเรียนจบพยาบาล จบสาขาอื่นยังลงเรียนคอร์สหัดเขียนโปรแกรมระยะสั้น แล้วย้ายสายอาชีพมาทำงาน IT เรียกว่าเฟื่องฟูกันสุดๆ ถึงขั้นประเทศไทยส่งคนไปดูงานเพื่อสร้างเมือง IT เลียนแบบเมือง “บังกาลอร์” เลยทีเดียว

แต่พอมาระยะหนึ่ง บริษัท IT อินเดียก็ประสบปัญหา เนื่องจากค่าแรงของพนักงาน IT สูงขึ้นเรื่อยๆตามประสบการณ์ทำงาน แล้วก็มีการแย่งตัวกัน ทำให้บริษัทเองก็ต้องขึ้นฐานเงินเดือนแข่งกันเพื่อจูงใจพนักงานด้วย ซึ่งภาระต้นทุนส่วนนี้ มันจะหายไปไหนได้ ถ้าไม่ถูกส่งผ่านมายังลูกค้าผ่านราคาขาย Man-Day ตามที่เราคุ้นๆเคยกัน

ส่วนคนที่ไม่คุ้นก็คือ การขายงานด้าน IT จะคิดราคาจากเวลาที่ต้องใช้ในการทำงานตีออกมาเป็น Man-Day หรือเวลาที่คน 1 คนทำงานใน 1 วัน จากนั้นก็เอาราคาค่าแรงต่อ Man-Day คูณเข้าไป จะได้ราคาขายออกมา 

แรกๆบริษัททั้งหลายก็จ่ายกันไหวล่ะ เพราะขึ้นราคามายังไงก็ยังถูกกว่าจ้างบริษัทฝรั่งอย่าง IBM อะไรพวกนี้อยู่ดี แต่มาถึงจุดหนึ่งก็เกิดปัญหา เพราะราคาเริ่มเข้าใกล้ราคาของ IBM จนบริษัทต่างๆ พากันตั้งคำถามกับบริษัท IT ของอินเดียว่า

“พนักงานของคุณเก่งสู้คนของ IBM ได้หรือปล่าว ทำไมฉันต้องจ่ายราคาแพงขนาดนี้ด้วย” 
และตามมาด้วย

“ถ้าต้องจ้างแพงขนาดนี้ ยอมเพิ่มเงินสักหน่อยแล้วไปจ้าง IBM ไม่ดีกว่าเหรอ” 

นั่นคือสิ่งที่บริษัท IT ของอินเดียเจอเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน ปัญหาที่ค่าแรงที่ถือเป็นต้นทุนหลักสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่บริษัทตั้งราคาขายสูงไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว

ปัญหาที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย

ผมคิดว่าเป็นที่ยอมรับกันมาสักพักแล้วว่า มาตรฐานเด็ก IT ที่จบออกมาช่วง 6-7 ปีหลังของบ้านเรามันแย่ลงเรื่อยๆ จากแต่ก่อนที่ผมนั่งสัมภาษณ์เด็ก เวลาเจอเด็กๆเก่งๆแล้วจะตื่นเต้น พอมาสักพักก็เจอเด็กขนาดที่ตกใจอย่างมาก เมื่อเจอผมถามคำถามว่า

“น้องคิดว่าสามารถนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้มากกว่า 8 ชม.ต่อวันไหมครับ”

น้องเค้าถามผมกลับมาว่า “ต้องอยู่กับคอมพิวเตอร์ขนาดนั้นเลยเหรอคะพี่? ทุกวันเลยเหรอคะ?”

สมัยผมจบใหม่ เด็กที่จบมาจะใช้เวลา 6 เดือนก็สามารถทำงานด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีคนสอนงานได้แล้ว และประมาณ 1 ปี ก็จะสามารถไปเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาได้

แต่เด็กที่จบออกมาหลังๆต้องใช้เวลากว่า 1 ปีถึงสามารถทำงานจริงๆโดยไม่ต้องมีคนดูแลได้ และต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีถึงสามารถดูแลคนอื่นได้

ยิ่งปัจจุบัน ผมเจอว่า ทำงานมาแล้ว 2 ปี ยังต้องมีคนคอยสอนงานบ้างอยู่เลย ถ้าเป็นงานใหม่ๆที่ไม่เคยทำ

แต่ค่าแรงปัจจุบันเด็กใหม่เริ่มราคาแรงมาก (บริษัทอย่างรอย… เริ่มที่ 25,000 บาท) และพอทำงานได้ 2-3 ปี เด็กก็อยากได้ค่าแรง สามสี่หมื่นกันแล้ว ปัญหาที่ไปกดดันบริษัท IT ก็คือ ถ้าอยากได้คน ก็ตั้งให้เงินเดือนสูง และไปคิดค่าราคากับลูกค้าแพงระดับหนึ่งถึงจะอยู่รอด

แต่เมื่อลูกค้าซื้อไปกับพบว่า คุณภาพมันไม่ได้ดีเท่าที่คาดหวังไว้ ทำให้ตลาดรู้สึกว่า ราคามันแพงเกิน ไม่สมราคา พอกดดันกลับมาที่บริษัท บริษัทก็กดดันกลับไปที่พนักงาน กดดันหน่อยพนักงานมันก็ลาออกไปหางานที่ใหม่ ที่ให้เงินเยอะกว่า

หลังๆ ผมเห็นบริษัท Outsource เกิดขึ้นเยอะพอสมควร แถมกิน Margin ต่ำมากๆ เช่นบริษัทที่น้องรู้จักทำอยู่ ได้เงินเดือน 55,000 บาท เซ็นต์สัญญากันปีต่อปี แล้วบริษัทก็ไปชาร์จลูกค้าแค่ 70,000 บาท ยอมกินกำไรนิดหน่อย แต่ได้ความแน่นอน เพราะถ้าลูกค้าไม่ต่อสัญญา บริษัทก็ไม่ต่อสัญญากับพนักงานเหมือนกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไปกดดันบริษัทให้ต้องขยับเงินเดือนให้สูงขึ้น เรื่อยๆ เพื่อดึงพนักงานให้อยู่กับองค์กร แต่ก็มีปัญหาว่าขายงานได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

ประกอบกับตลาด PC ที่หดตัวลง ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่า อุตสาหกรรม IT ที่หากินกับ PC เริ่มจะไม่ขยายตัว (แต่ไปโตแบบแรงมากๆในตลาด Mobile แทน เพราะใครๆก็อยากมี App ของตัวเองทั้งนั้น เหมือนสมัยก่อนที่บริษัทไหน ถ้าจะดูทันสมัยก็ต้องมีเวบไซต์ มาตอนนี้ ถ้าใครอยากทันสมัยต้องมี App ของตัวเองก่อน)

ทำให้เมืองไทยกำลังวิ่งเข้าหาปัญหาเดียวกับอินเดียที่ลูกค้ากำลังตั้งคำถามว่า

“ทำไมฉันต้องจ่ายเงินแพงๆ ในเมื่อคนของคุณก็ไม่ได้เก่งสมราคา” 

ปล. ผมไม่รู้นะครับว่าอินเดียออกจากปัญหานี้ยังไง เพราะไม่ได้ตามต่อ

10 thoughts on “ปัญหาของธุรกิจ IT ไทย

  1. มันก็เป็นแค่คำพูดที่ทำให้ตัวเองดูดีแค่นั้นแหละครับ ถ้าคุณพูดแบบนี้ แปลว่า สมัยพ่อคุณทำงานเก่งกว่าคุณ สมัยปู่คุณทำงานเก่งกว่าพ่อคุณ สมัยก่อนทำงานเก่งกว่าคุณทุกคนเลยนะครับ อย่าพูดให้ตัวเองดูดีเหอะ มันไม่ได้เท่เลย เหอๆ

  2. "มาตรฐานเด็ก IT" ผมคิดว่า เด็ก IT ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา บางครั้งโลกเราก็เร็วเกินไป ถ้าลองเทียบ Microsoft Excel สมัย 20ปี ที่แล้วกว่าจะใช้ได้ก็เหนื่อยเหมือนกัน พอมาดูสมัยนี้เด็กประถมใช้กันเป็นหมดแล้ว

    คุณ Chaimongkon Sinpaksa อย่าเอาสิ่งที่คุณพบเจอมาเหมารวมแบบนั้น เด็กเก่งๆ ก็เยอะ เด็กไม่เก่งก็เยอะนะครับ

    ผมคิดว่า แค่คุณพบเจอเด็กที่เป็นแบบนั้นมากกว่านะ ที่ผมเจอ เด็กเก่งๆ ทำงานอดทนๆ ก็มี แต่ต้องให้ราคาที่เหมาะสมที่เขาจะได้นะครับ

  3. การที่จะให้พนักงานอยู่กับบริษัทนาน มันก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ ปัจจัยหลักน่าจะค่าแรงและความพึงพอใจของพนักงาน นะครับ ในเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นพนักงานเค้าก็ต้องการค่าแรงที่เหมาะสมเช่นกัน แต่ประเด็นที่ได้อ่านก็คือ ไอ้คนที่ขอขึ้นค่าแรงมันไม่ได้สัมพัธ์กับความสามารถ อยากขึ้นค่าแรงแต่คุณภาพของงานไม่ได้เพิ่มขึ้น ผมคิดว่าปัญหานี้มันน่าสามารถแก้ไขและป้องกันได้ (ถึงจะแก้ไม่ได้ 100% ก็ตาม) ตั้งแต่การคัดพนักงานเข้ามาทำงาน การพัฒนา software แบบมี process ที่มีมาตรฐาน ก็จะทำให้เราสามารถที่จะรีดเอาความสามารถที่พนักงานมีอยู่ออกมาได้ให้คุ้มกับค่าแรง ไม่ใช่รับพนักงานมาแล้วจะหวังให้มันเป็นเทพด้วยตัวเองภายใน 1-2 ปีมันก็ไม่ถูก บริษัทเองก็ต้องมีกระบวนการบางอย่างในการพัฒนาศักยภาพของพนักงานด้วยครับ

  4. ผมว่าพี่อาจจะเจอ แต่เด็กที่จบมาแล้วไม่เก่งนะครับ ผมคิดว่าทุกยุคทุกสมัย มีทั้งคนเก่งและไม่เก่ง เหมือนพี่นับสมัยพี่ เฉพาะตัวพี่ หรือเพื่อนๆพี่ แต่สมัยใหม่ พี่กลับบอกรวมๆว่าไม่เก่งหมดเลย

    เราควรโฟกัสที่ จำนวนมากกว่าครับ จบมากขึ้น แต่ทำไมคนที่มีคุณภาพกลับน้อยลง จึงทำให้คนที่พี่เจอ ส่วนใหญ่ ไม่มีคุณภาพ

  5. เห็นด้วยกับทุกความคิดเห็นนะ

    ในสมัยนี้ทุกอาชีพมันก็มีทั้งคนเก่งไม่เก่งแหละ ไม่อย่างนั้นทุกคนก็เก่งเหมือนกันหมดน่ะสิ

    เจ้าของบทความนี้ มองโลกแคบเกินไป กรุณาแก้ไข หรือ ลบ เถอะค่ะ เด็กๆที่เข้ามาอ่านจะได้ไม่โลกแคบเหมือนคุณ

  6. คือผมตอบรวมๆแบบนี้ครับ

    "มาตรฐานเด็กแย่ลง"

    คำว่ามาตรฐาน ไม่ได้หมายความว่าเด็กทั้งหมดแย่ลง เพียงแต่ภาพรวมมันต่ำลงเรื่อยๆ (ในความคิดผม)

    คิดง่ายๆน่ะครับ เหมือนคะแนนเฉลี่ย สอบเข้ามหาลัย มันต่ำลงทุกปี อันนี้เราคงเคยได้ยินข่าว แต่มันไม่ได้หมายความว่า คน IT ไทย ทำงานไม่เก่งทุกคน

    ส่วนประเด็นๆอื่นๆที่ทุกท่าน แสดงความเห็นมา รู้สึกขอบคุณมากครับ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

  7. ไม่เชิงเห็นด้วยนะครับ เพราะผมมองในมุมมองลูกจ้าง ไม่ใช่ผู้บริหาร 😛

    แต่ผมว่าวิธีการเรียนสมัยนี้เรียนเรื่อง logic computer จริงๆลดลงจากสมัยก่อน
    เพราะเครือง มันแรงขึ้นมาก จนคิดว่าเขียนอะไรตลกๆ ลงไปก็ได้ให้มัน run ผ่านก็พอ

    ปัญหาคือ สมัยก่อน มันเห็นชัดไงครับ กดตูมไปรอสิบวิ เทียบกับ สิบนาที ส่งแล้วไม่รอดแน่นอน
    สมัยนี้ อาจจะเหลือ ต่างกันแค่ หนึ่งวิ กับ สิบวิ พอรับได้ ?

    แต่ถ้าเอาจริงๆ ก็ไม่รอดเหมือนกันแหละ

    ก็แล้วแต่ถ้าใครคดิว่า เก่งแล้วจะย้ายงาน up เงินไปเรื่อยๆ ผมก็สนับสนุน ครับ ไม่ได้ว่าอะไร
    ก็ผมเป็นลูกจ้างนิ จริงมะ 55

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *