จำนำข้าว

ช่วงนี้ได้อ่านบทความหลายบทความที่วิพากษ์นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลปูจ๋า เลยอยากมาเขียนสรุปความเห็นตัวเองไว้แบบนี้ครับ

  • ต้นทุนปลูกข้าวชาวนาสูงมากครับ ตกประมาณ 6-7 พันบาทต่อไร่ ผลผลิตต่อไร่ของชาวนาไทย 400-500 กิโล (เวียดนามอยู่ที่ 800-900 กิโล) อันนี้คือข้าวสารนะ แต่ชาวนาชายจริงๆคือข้าวเปลือก ให้คูณสองเข้าไป 
  • ราคาขายข้าวเปลือกอยู่ที่ราวๆกิโลละ 6 บาท
  • ชาวนาบางส่วนมีทุนในการทำนา ไม่ได้เดือดร้อน แต่ชาวนาอีกส่วนไม่มีทุน หรือสูญเสียทุนไปจาก “นาล่ม” ซึ่งกลุ่มนี้ต้องกู้เงินธกส. มาใช้ในการลงทุนทำนาปีต่อไป
  • ราคารับซื้อข้าวปัจจุบันอยู่ที่ 7-8,000 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนทำนาอยู่ที่ 6-7 พันบาทต่อไร่ (ไร่หนึ่งได้ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 1 ตัน) ปีไหนข้าวราคาดี ค่อยจะมีกำไรเยอะ
  • ถ้าเทียบราคานี้จะเห็นว่า ถ้าต้องกู้เงินมาทำนา ชาวนาจะไม่มีโอกาสออกจากวงจรการกู้เงินธกส.เลย เพราะเงินที่ได้มา ต้องเอาไปใช้หนี้ธกส. แล้วก็ต้องกู้ต่ออยู่ดี
  • รัฐพยายามเข้ามาแก้ปัญหาราคาข้าวทุกรัฐบาล วิธีแก้ก็แตกต่างกันไป รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้วิธีการประกันราคาข้าว โดยตั้งราคาประกันไว้ ถ้าปีนั้นราคารับซื้อไม่ถึง ก็มาเบิกเงินส่วนต่างจากรัฐ ซึ่งวิธีนี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการจัดเก็บข้าวในกรณีรับจำนำ การทุจริตข้าวที่จำนำ แต่มีข้อเสียคือรัฐเสียเงินไปเฉยๆ เหมือนจ้างชาวนาทำนา โอกาสทุจริตก็มี เพราะไม่ต้องเข้าผลผลิตมาให้ดู เอาแค่โฉนดมาแสดง แล้วรัฐจะเทียบผลผลิตต่อไร่ให้ แล้วก็จ่ายเงินส่วนต่างมาเลย
  • ข้อเสียของวิธีประกันราคาข้าวคือ พ่อค้าสามารถกดราคาขายได้ เพราะไม่มีการแข่งขันด้านราคา ชาวนาไม่จำเป็นต้องรอจังหวะขาย เพราะขายตอนไหนก็ได้เงินรวมเท่าเดิม สุดท้ายก็เหมือนรัฐเอากำไรไปให้พ่อค้า ทำให้ราคารับซื้อในประเทศตกต่ำ แต่พ่อค้าทำกำไรได้เพิ่มขึ้น
  • นโยบายจำนำข้าว ไม่มีคนบ่น เพราะทุกคนได้ประโยชน์หมด ยกเว้นรัฐที่ต้องจ่ายเงินทุกปี ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์โชคดีที่คนที่เสียงดังชอบ เลยไม่โดนด่าหรือวิจารณ์มาก ทั้งๆที่ถ้าคิดจริงๆ ประสิทธภาพต่อเงินลงทุนก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่
  • รัฐบาลปูจ๋า เปลี่ยนกลับมาใช้วิธีรับจำนำข้าว โดยประกาศราคารับจำนำไปเลยที่ 15,000 บาท โดยต้องเอาข้าวมาจำนำกับรัฐบาล ข้อดีก็มีคือชาวนาขายข้าวได้ราคา และราคาจำนำสูงมาก
  • ด้วยราคานี้ ภายในรอบทำนาเดียว ชาวนาสามารถปลดนี้ธกส.ของการกู้ครั้งก่อนได้ (บางคนกู้หลายรอบ ถ้านาล่มติดกันหลายปี) และเอาเงินมาทำทุนได้เลย โดยลดการกู้ยืมธกส.ลง (ได้กำไร 100% สามารถจัดสรรเงินไปลงทุนต่อได้)
  • วิธีนี้เปิดช่องให้ทุจริตได้มโหฬาร ตั้งแต่
  • การสวมสิทธิ์เอาข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาจำนำ 
  • การจัดเก็บที่รัฐไม่มีไซโลจัดเก็บข้าวเป็นของตัวเอง ต้องเช่าเอกชนโรงสี ซึ่งมีเหตุจริตบ่อยๆที่เช่นสต๊อกลม (โรงสีแอบเอาข้าวไปขาย) ข้าวเสื่อมจากการจัดเก็บ 
  • การประมูลข้าวจากรัฐไปขาย ที่เอกชนสามารถกดราคาต่ำได้ เพราะถึงเวลา รัฐไม่มีที่จัดเก็บก็ต้องระบายข้าวออก หรือข้าวเก่า คุณภาพความชื้นจะสูง ทิ้งไว้นานก็จะขายไม่ได้ราคา รัฐก็จำเป็นต้องระบายออก
  • รัฐบาลนี้พยายามอุดช่องการทุจริตโดย ไม่ยอมขายข้าวหากไม่ได้ราคาที่ยอมรับ (รมต.บอกรับได้ที่ราคา 12,000 บาท ซึ่งเอกชนขอซื้อราคาเดิม 5-6 พันบาท)
  • พ่อค้าไม่มีข้าวขายเพราะชาวนา เอาข้าวไปจำนำรัฐหมด สุดท้ายก็ไปซื้อข้าวจากต่างประเทศไปขายแทน
  • วิธีนี้ ชาวนายังได้ประโยชน์เหมือนเดิม แต่พ่อค้าเสียประโยชน์ที่เคยได้ และปัจจุบันไทยขายข้าวได้ลดลง
  • วิธีรัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นวิธีที่ดีหรือไม่ เพราะรัฐยังไม่ยอมขายข้าวออกมา ซึ่งจริงๆแล้ว หากรัฐสามารถยื้อไม่ปล่อยข้าวออกมาได้ ในระยะเวลาที่นานพอ จะทำให้เกิดข้าวหายไปจากตลาดโลกในระดับหนึ่ง ที่จะดันราคาให้สูงขึ้น (เพราะขาวลดลง แต่ความต้องการเท่าเดิมหรือมากขึ้น) แต่ขึ้นอยู่กับว่า ระหว่างตลาดกับรัฐ ใครจะอึดมากกว่ากัน
  • จริงๆวิธีการนี้ก็เป้นวิธีการพยายามเอาชนะตลาดแบบหนึ่ง โดยที่รัฐเข้ามาเล่นเอง เพื่อกำหนดปริมาณข้าวในตลาดเพื่อไปกดดันราคา 
จริงๆแล้ววิธีการแก้ปัญหาที่น่าจะดีกว่าคือการพยายามเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ให้สูงขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ทางภาคอีสานของไทย ผลผลิตต่อไร่เราต่ำกว่าเพื่อนบ้านมาก (แต่ภาคกลางสู้ได้) ถ้าเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ รายได้ชาวนาจะเพิ่มขึ้นเอง แต่เป็นอะไรที่ทำได้ยาก เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องชลประทาน ซึ่งแก้ยาก เพราะเราสร้างเขื่อนไม่ได้ ขณะที่เพื่อนบ้านสร้างกันปาวๆ บางประเทศวางแผนจะสร้างเป้นสิบเขื่อน

 ปีนี้ไทยอาจจะเสียแชมป์ส่งออกข้าวได้ แต่ก็นั่นล่ะ คนไทยชอบนักกับตำแหน่งจอมปลอมที่สุดท้ายมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราขายข้าวได้เยอะที่สุดในโลก แต่ชาวนาคนปลูกข้าวไม่มีอะไรกิน

ตลกนะ

ปล. ต้นทุนการทำนาที่สูงมากคือค่าปุ๋ย แต่อย่าคิดอะไรเพ้อฝันแบบว่า ทำนาไม่ต้องใส่ปุ๋ยสิ แบบคนเมือง เพราะถ้าไม่ใส่ปุ๋ย ผลิตต่อไร่จะต่ำมาก จนไม่คุ้มในการทำนา นอกจากคนไทยทั้งประเทศจะยอมซื้อข้าวไม่ใส่ปุ๋ยกินในราคากิโลละร้อย แบบนั้นค่อยมาบอกชาวนาว่าอย่าใช้ปุ๋ยเคมี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *