เมื่อเช้า ผมถกเถียงกับมิตรสหายท่านหนึ่งในประเด็นว่า ทำไมนิตยสาร “สกุลไทย” ที่อยู่คู่เมืองไทยมานานต้องปิดตัวลง โดยอ้างอิงจากความเห็นของอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่มีความเห็นว่า หนังสือดีๆอย่างนี้ ควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะสนับสนุนไม่ให้ปิดตัวลง เพราะเนื้อหา (content)มากมายในนั้นที่มีคุณค่า และมีคุณภาพมากยิ่งกว่ากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงประชาสัมพันธ์ของรัฐจะสร้างได้
ความเห็นของผมคือ
ทำไม อะเดย์ ซัลมอน ไม่มีปัญหานี้ เป็นสิ่งที่นิตยสารต้องศึกษา
ไม่ใช่ปรับตัวไม่ได้ แล้วบอกว่ารัฐบาลไม่ช่วย
คนประสบความสำเร็จไม่โทษฟ้าโทษฝน ไม่ตีโพยตีพายว่าทำไมเทวดาฟ้าดินไม่ช่วย
ถ้าในตลาดมีคนอยู่ได้ แถมอยู่ได้ดีด้วย มันต้องอะไรสักอย่างที่เราไม่รู้แล้วไม่ได้ทำ
กุลสตรีปิดตัว น่าจะมาเพราะคนทำเหนื่อยพอแล้ว และมีคนอื่นมาทดแทน ทำแทนสิ่งที่ตัวเองอยากทำแล้วก็ได้ เหนื่อยแล้วก็พัก หนักมานานแล้วก็พอ
เค้าอาจจะอยากบอกเราแบบนั้น
ผมมองบริษทนี้ออกเป็น 2 มิติครับ
มิติแรกคือ ทำไมเจ๊ง
อันเหตุที่เจ๊ของนิตยสารเก่าแก่ของไทยส่วนมากนั้น มาจากการยึดติดกับการเป็นสื่อประเภทเดียวของคนทางด้านสิ่งพิมพ์รุ่นเก่า คือคนเกิดมาเป็นหนังสือพิมพ์ก็หนังสือพิมมพ์ คนเกิดมานิตยสารก็นิตยสาร พอสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงของสื่อเก่าสื่อใหม่ คนปรับตัวไม่ได้ก็จะบอกว่า
“โอ้ตายล่ะ คนไม่อ่านหนังสือกันแล้ว”
คำตอบมีอยู่ในตัวมันแล้วครับว่า คนไม่อ่านหนังสือกันแล้ว แต่คนยัง “อ่าน” และยังเสพย์ “สื่อ” เหมือนเดิม เพียงแต่รูปแบบของสื่อที่เปลี่ยนไปตามบริบทของยุคสมัย
คนยังอ่านเท่าเดิม แต่อ่านหลายๆสื่อพร้อมกันมากขึ้น อเดย์ อยู่ได้ เพราะเข้าหาคนอื่น สร้าง community ของตัวเอง เบลอเส้นแบ่งระหว่าง นิตยสาร ทีวี เวบไซต์ หนังสือ วิดีโอ กิจกรรม เข้าด้วยกัน ผสมผสานเป็นเนื้อเดียว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายยังอยู่ในจักรวาลของตัวเอง เฉกเช่นเดียวกับ Salmon Book ที่มองว่า คนยังเสพย์เนื้อหา (Content) ที่มีคุณภาพอยู่ เพียงแต่มีเวลาให้กับสื่อแต่ละประเภทน้อยลง
ผมว่า บุคลากรของ สกุลไทย รู้และเข้าใจดี แต่ไม่อยากทำแล้ว
มิติที่สองคือ ทำไมไม่ทำต่อ
กระบวนการเกิดขึ้นของนิตยสารสักเล่มนั้น เกิดจากเรามีสิ่งที่อยากเล่า และคิดว่าตลาดขาด เนื้อหาแบบนี้ที่สามารถตอบสนองผู้อ่านได้ ซึ่งผมมองว่า บุคลากรของสกุลไทยคงมองแล้วว่า เนื้อหาของเรา ไม่ได้มีความจำเป็นกับตลาดเพียงพอที่จะล่อเลี้ยงอุดมการณ์ของตัวเองต่อไป
บางคนอาจจะบอกว่า นิตยสารต้องปิดตัวลงเพราะโฆษณาไม่มี อันนั้นดูจะมองอย่างตื้นเขินไปหน่อย
เพราะผมคิดว่า เม็ดเงินจากโฆษณา คือสิ่งล่อเลี้ยงให้นิตยสารอยู่ได้ แต่จำนวนผู้อ่านนั้น คือสิ่งหล่อเลี้ยงให้คนทำนิตยสาร มีแรงใจสู้ต่อไป
เราจะสู้ผ่านวิกฤติได้ เมื่อเราเชื่อว่า เราทำสิ่งสำคัญอยู่ สำคัญต่อตัวเอง สำคัญต่อผู้อื่น สำคัญต่อสังคม แล้วแต่ขนาดของอุดมการณ์ที่แต่ละคนมี แต่การที่ไม่รู้จะสู้ไปเพื่อใคร ถ้าไม่มีใครเห็นหรือรอชื่นชม แรงใจ แรงกระตุ้นในการทำมันก็ไม่มี
เมื่อมองยังนักเขียนนักคิดรุ่นใหม่ ที่ผสมวิธีการตลาดหลอกล่อให้คนรุ่นใหม่ยัง “อ่าน” กันอยู่ แม้จะอยู่ในรูปแบบแปลกๆที่คนรุ่นเก่าไม่คุ้นเคย แต่ผมก็คิดว่ามันมีที่ทางและทางไป ที่ทำให้ “สกุลไทย” คิดว่า
“ส่งไกลแค่ไหนก็ต้องจาก” ไม่จากกันวันนี้ วันหน้าก็ต้องจากกันอยู่ดี